วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิตามิน อี....วิตามินแห่งการสืบพันธุ์

หลายคนคงไม่คิดว่าวิตามินที่มีหน้าที่ช่วยในการสืบพันธุ์โดยตรงคือ วิตามิน อี (Vitamin E) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า "โทโคเฟอรอล" ซึ่งเป็นวิตามินที่มักเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นวิตามินสำหรับความงามที่ช่วยชลอการแก่ก่อนวัยของผิวหนัง อันเป็นหน้าที่รองของวิตามินอี

โทโคเฟอรอล มาจาก ภาษา กรีก 2 คำ คือ "โทโคส (Tokos)" ที่แปลว่า ให้กำเนิดลูก  และ คำว่า "  เฟอรอล (Pherol) " ที่แปลว่า การทำให้มี หรือ การนำพา

ตามหลักการทางเคมี วิตามินอี เป็นสารประกอบที่อยู่ในกลุ่มสารที่มีชื่อว่า "โทโค (Tocos)" ซึ่งสารในกลุ่มนี้มี 2 ชนิดคือ โทโคเฟอรอล (Tocopherols)  และ โทโคไตรอีนอล (Tocotrienol)

การค้นพบวิตามินอี เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1911 โดยรู้จักวิตามินอี ในฐานะที่เป็นสารที่ทำหน้าที่เป็น antisterility factor ในสัตว์ และในอีก 9 ปีต่อมาได้มีนักวิจัยชื่อ Matthill และ Conklin ได้สังเกตพบว่าหนูที่กินอาหารผสมนมแตาขาดวิตามินจะมีความผิดปกติด้านการสืบพันธุุ์ แต่ไม่ทราบว่าการขาดวิตามินอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้หนูมีความผิดปกติด้านการสืบพันธุ์

ในปี ค.ศ. 1922 นักวิจัยชื่อ Evans และ Bishop ได้ทดลองเติมวิตามิน เอ และ วิตามิน บี ลงในอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนให้หนูกิน พบว่า แม้ว่าจะเสริมวิตามินเอ และวิตามินบีในอาหารแล้ว หนูตัวเมียก็ยังคงแท้งลูกและเป็นหมันในที่สุด  ดังนั้นจึงได้มีการเติมผักใบเขียว  ผักกาดหอม  อัลฟาฟา และเนยเหลวเสริมในอาหารหนู พบว่าหนูไม่เป็นหมัน นั่นแสดงว่า ผักใบเขียว เนยมีสารที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการสืบพันธุ์ของสัตว์ จึงตั้งชื่อว่า "แฟคเตอร์ เอกซ์ (Factor X)"  ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก "แฟคเตอร์ เอกซ์" เป็น วิตามิน อี (Vitamin E) โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Sure  และในปี ค.ศ. 1934 ได้มีการสกัดวิตามินอีเป็นครั้งแรกจากรำข้าวสาลี และตั้งชื่อใหม่อีกชื่อหนึ่งตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีว่า "โทโคเฟอรอล" อีก 2 ปีต่อมาจึงได้มีการสังเคราะห์วิตามินอีขึ้นมา ในรูปของ "ดี-แอล-อัลฟาโทโคเฟอรอล (dl-alpha tocopherol)" โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Karrer และเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล

การค้นพบว่า วิตามินอี มีฤทธิ์ต่อต้านปฏิกิริยาสร้างอนุมูลอิสระ (antioxidative activity) ในปี ค.ศ. 1945 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1962 ได้มีการศึกษาผลของวิตามินอีในกระบวนการเมตาบอลิซึมของสิ่งมีชีวิตและพบว่าวิตามินอีเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระด้วย  จากการต้นพบนี้นำมาสู่การประยุกต์ใช้อธิบายการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ เซลล์ และความชรา และนำมาสู่การประยุกต์ใช้วิตามินอีในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และ โภชนาการอย่างกว้างขวาง

วิตามินอีชนิดอัลฟา และ บีต้า ต่างกันอย่างไร

ผู้อ่านคงเคยได้เห็นวิตามินอีที่เรียกว่า "อัลฟาโทโคเฟอรอล" และ ที่เรียกว่า "บีต้าโทโคเฟอรอล"  โทโคเฟอรอลมี 4 ชนิด ค่ะ คือ "อัลฟาโทโคเฟอรอล"  "บีต้าโทโคเฟอรอล"  "แกมมาโทโคเฟอรอล" และ "เดลต้าโทโคเฟอรอล" คำว่า อัลฟา, บีต้า, แกมมา, และ เดลต้า เป็นชื่อสัญญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงลักษณะโครงสร้างทางเคมีปลีกย่อยของวิตามินอี  และการที่วิตามินอีมีโครงสร้างปลีกย่อยที่แตกต่างกันมีผลทำให้การแสดงฤทธิ์แตกต่างกันด้วย

วิตามินอีชนิดที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพมากที่สุดคือ วิตามินอีชนิด แอลฟาโทโคเฟอรอล รองลงมาคือ  แกมมาโทโคไตรอีนอล   โดยวิตามินอีชนิด แอลฟาโทโคเฟอรอลมีฤทธิ์ทางชีวภาพสูงสุด 100%  ส่วนวิตามินอีชนิดแกมมาโทโคเฟอรอลและ แอลฟาโทโคไตรอีนอลมีฤทธิ์ทางชีวภาพ 30%  ขณะที่วิตามินอีชนิดเดลต้าโทโคเฟอรอลมีฤทธิ์เพียง 1.4% เท่านั้น  การแสดงฤทธิ์ของวิตามินอีขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่นเป็นสำคัญ


วิตามินอีชนิดที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมากที่สุดคือ วิตามินอีชนิด เดลต้าโทโคเฟอรอล รองลงมาคือ  แกมมาโทโคเฟอรอล บีต้าโทโคเฟอรอล และ แอลฟาโทโคเฟอรอล ตามลำดับ

หน้าที่ของวิตามินอีในร่างกาย

แม้ว่าเราจะทราบหน้าที่ของวิตามินอี  แต่กลับไม่ทราบหน้าที่ของวิตามินอีในร่างกายไม่ชัดเจน พบว่าการแสดงฤทธิ์ของวิตามินอีในร่างกายขึ้นอยู่กับการเป็นตัวต้านออกซิเดชั่นเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยป้องเซลล์เนื้อเยือของร่างกายจากอนุมูลอิสระ  ป้องกันการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง  และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง  ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี จึงมีการนำวิตามินอีมาใช้รักษาอาการเส้นเลือดขอด  ความดันโลหิตสูง และ thrombophlebitis เป็นต้น

References:
ณกัญภัทร  จินดา. 2548. เอกสารประกอบการสอนวิชาเทคโนโลยีน้ำมันพืช. สาขาวิชาเทคโนโลยีทางกระบวนการเคมีและฟิสิกส์, คณะอุตสากรรมเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ
ศิริวรรณ  สุทธจิตต์. 2550. วิตามิน. สำนักพิมพ์ the knowledge center, กรุงเทพฯ. 123-143 น.
Meydani, M. 1995. Vitamin E. Lancet. 345:170-175.





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น