วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

โปรตีนเกษตร...Textured Vegetable Protein (TVP)

ถ้าเรียกเป็น TVP หรือ Textured Vegetable Protein  หลายคนคงไม่คุ้นกันเลย  แต่ถ้าเป็น "โปรตีนเกษตร หรือเนื้อเทียม" แล้วละก้อ หลายต่อหลายคนเป็นต้องร้อง "อ๋อ!!"  เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนที่รับประทานอาหารเจ และ มังสวิรัติ   โปรตีนเกษตรคืออะไร  และทำไมต้องเป็นโปรตีน-เกษตร ด้วยหล่ะ   มีคำอธิบายค่ะ

โปรตีนเกษตร หรือ เนื้อเทียม เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่แปรรูปมาจากโปรตีนถั่วเหลืองนำผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีเอ็กทรูชั่น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้สุกในระดับที่ต้องการได้และรักษาคุณสมบัติการคืนสภาพได้ดี  ได้ผลิตภัณฑ์โปรตีนที่มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์  ที่มีชื่อเต็มภาษาอังกฤษเป็น Textured Vegetable Protein และเรียกชื่อย่อว่า TVP  




สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เป็นผู้คิดค้นโปรตีนเกษตรสำเร็จเป็นแห่งแรก โดยผลิตจากแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมัน (ซึ่งก็คือแป้งที่เหลือจากการหีบน้ำมันออกแล้ว) ซึ่งมีโปรตีนสูงถึงร้อยละ 50   อีกทั้งโปรตีนในถั่วเหลืองยังเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพราะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกตัวโดยเฉพาะกรดอะมิโนไลซีน (Lysine) สูง ดังนั้นถ้าทิ้งไปไม่นำมาใช้ประโยชน์นับว่าน่าเสียดายอย่างมาก 

เครื่องจักรที่สำคัญในการผลิตโปรตีนเกษตรคือ เครื่องเอ็กซ์ทรูดเดอร์ (Extruder)  การผลิตทำโดยใส่แป้งถั่วเหลืองพร่องไขมันเข้าเครื่องเอ็กซ์ทรูดเดอร์ ซึ่งมีความดันและอุณหภูมิสูงในระยะเวลาอันสั้น เรียกกระบวนการแปรรูปนี้ว่า "กระบวนการอัดพอง" หรือ extrusion process  เมื่อแป้งถั่วเหลืองพร่องไขมันได้รับความร้อนขณะเคลื่อนตัวไปตามร่องสกรูของเครื่องเอ็กซ์ทรูดเดอร์ จนสภาพธรรมชาติเปลี่ยนไปเป็นของเหลวข้น จากนั้นจะถูกดันให้ผ่านรูเล็กๆที่มีรูปร่างต่างๆ (ตามต้องการ) พร้อมกับถูกใบมีดที่ติดตั้งไว้ที่ปลายเครื่องตัดออกเป็นชิ้นๆ หล่นลงสู่สายพานนำเข้าอบเพื่อไล่ความชื้นที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นานประมาณ 15 นาที ให้มีความชื้นเหลือต่ำกว่า ร้อยละ 5  จึงนำไปบรรจุถุงและผนึก ก็จะได้ผลิตภัณฑ์โปรตีนเกษตรที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์

คุณค่าทางอาหาร: ปริมาณสารอาหารในโปรตีนเกษตร 100  กรัม
โปรตีน 49.76 กรัม  คาร์โบไฮเดรต (รวม crude fiber)  40.89 กรัม 
ใยอาหาร 13.60 กรัม  เถ้า  6.78 กรัม  ความชื้น  2.15  กรัม 
ไขมัน 0.42 กรัม พลังงาน 366.38  กิโลแคลอรี่ ฟอสฟอรัส  773.70 มก.
โพแทสเซียม 6.71  มก. แคลเซียม  138.90  มก.  เหล็ก 6.80 มก.
โซเดียม 0.95  มก. ไนอะซีน 2.35  มก. วิตามินบี 1  0.26 มก.
วิตามินบี 2  0.26 มก.

กรดอะมิโนในโปรตีนเกษตร 100 กรัม
ลูซีน 3.98 กรัม ไลซีน 3.11 กรัม วาลีน 2.25 กรัม ทรีโอนิน 2.18 กรัม
ฟีนิลอะลานีน  2.85 กรัม เมทไทโอนีน 0.73 กรัม ไอโซลิวซีน 2.13 กรัม
ไทโรซีน 1.88  กรัม  ทริปโตเฟน 0.91 กรัม  ซีสตีน 0.80 กรัม    



วิธีการเก็บรักษาโปรตีนเกษตร
บรรจุในภาชนะที่แห้ง สะอาด ปิดสนิท เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง เก็บได้นาน 1 ปี

วิธีการใช้โปรตีนเกษตร
นำมาแช่ในน้ำเย็น  โดยใช้โปรตีนเกษตร 1 ส่วนต่อน้ำ 2 ส่วน แช่ทิ้งไว้นานประมาณ 5 นาที ถ้าแช่ในน้ำเดือดใช้เวลาประมาณ 2 นาที โปรตีนเกษตรจะดูดน้ำจนพองนิ่ม จากนั้นบีบน้ำออก จึงนำไปประกอบอาหาร

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อบเชย Cassia ต่างกับ อบเชย cinnamon อย่างไร

พืชพรรณในสกุลอบเชย (Genus Cinnamomum) ส่วนใหญ่ใบและเปลือกมีกลิ่นหอมเป็นไม้ยืนต้น พบกระจายกว้างขวางทั่วไปทั้งในเขตร้อนและกึ่งร้อน เช่น ในแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คุมไปถึงประเทศอินเดีย ศรีลังกา และ ประเทศใกล้เคียง ในประเทศจีนมีการกระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ไปจนถึงตอนกลางของประเทศ พบในญี่ปุ่นไต้หวันนอกจากนั้นยังพบในออสเตรเลียและหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิก (Hooker,1974) จากรายงานใน Index Kewensis พบพืชสกุลนี้ในโลกถึง 328 ชนิด สำหรับประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ (2523) รายงานไว้ 18 ชนิด (สมคิด สิริพัฒนดิลก2546)  แม้พันธุ์ในสกุลอบเชยมีจำนวนมากแต่ก็มีเพียง 2 ประเภทใหญ่ ที่ทำการค้าในตลาดโลก คือ อบเชยเทศ (Cinnamon) และ แคสเซีย (Cassia) ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแหล่งผลิต และคุณภาพพบว่าในตลาดซื้อขายอบเชย  มีอบเชย 4 ชนิด เป็นอบเชยเทศ 1 ชนิดและแคสเซีย 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดมีชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์แต่งต่างกัน คือ

1. อบเชยเทศ (Cinnamon)  
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cinnamomum verum J.S.Presl   วงศ์: Lauraceae                             ชื่อสามัญ : Ceylon cinnamon, Cinnamon tree       

2.   แคสเซีย (Cassia)
อบเชยจีน
ชื่อวิทยาศาสตร์Cinnamomum aromaticum Nees  วงศ์ :  Lauraceae ชื่อสามัญ : Cassia bark, Cassia lignea
อบเชยญวน
ชื่อวิทยาศาสตร์Cinnamomum loureirii   Nees  วงศ์:  Lauraceae  ชื่อสามัญ: Saigon cinnamon, Saigon cassia
อบเชยชวา
ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cinnamomum burmanii   (Nees) Blume  วงศ์ :  Lauraceae  ชื่อสามัญ: Batavia cinnamon, Batavia cassia, Padang- cassia, Penang cinnamon

Cassia เป็นพืชที่มีเปลือกหอม คล้ายกับ Cinnamon แต่มีความหนาและคุณภาพเปลือกต่างกัน  เปลือกของ Cassia มีสีคล้ำ หนาและไม่เรียบ โดยผิวเปลือกด้านนอกขรุขระและมีสีน้ำตาลเทา ส่วนเปลือกด้านในเรียบกว่า มีสีน้ำตาลแดง Cassia  มีราคาถูกกว่า  Cinnamon 
หน่อของ Cassia มีลักษณะคล้ายกานพลู   หน่อที่ยังไม่แก่ที่แห้งมีความยาวประมาณ 14 mm.

   Cassia มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศพม่า และมีการปลูกมากในประเทศจีน แถบอินโดจีน ทางตะวันออกและตะวันตกของอินเดียและอเมริกากลาง
   นอกจาก 3 ชนิด ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น Cassia ยังมีอีกหลายสายพันธุ์ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเพียง อบเชยจีน อบเชยญวน และอบเชยชวา เท่านั้น เนื่องจากทั้ง 3 เป็นสายพันธุ์ที่มีการค้าในตลาดโลก

   อบเชยจีน
   อบเชยจีนเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงและขนาดของลำต้นมากกว่าอบเชยเทศ มีเปลือกหนาหยาบกว่า และสีเข้มกว่าอบเชยเทศ โดยเปลือกต้นมีสีน้ำตาลแกมเทา กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามและเยื้องกัน ใบมีลักษณะคล้ายรูปหอกกว้าง 3-4 ซม. เป็นมันสีเขียวเข้ม ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวหรือสีขาวแกมเหลือง มีขนอ่อน ๆ ที่ก้านดอก ผลสดรูปวงรี ยาว 10-13 มม. เมื่อสุกสีม่วงดำ ผิวเลี้ยง เม็ดแข็ง เนื้อผลนิ่ม กลิ่นหอมฉุน มีรสขมเล็กน้อย

โครงสร้างของเปลือกอบเชยจีน
ภาพตัดขวางเปลือกอบเชยจีน
      เมื่อพิจารณาลักษณะทางจุลทรรศน์ของภาคตัดขวาง
(cross section) ของเปลือกอบเชยจีนจะพบชั้นคอร์กค่อนข้างหนา ถัดเข้ามาเป็นชั้น cortex และ pericycle คล้ายกับที่พบในอบเชยเทศ 



เมื่อดูผงแป้งใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบชิ้นส่วนของคอร์ก best fiber เม็ดแป้งกลมและขนาดใหญ่ (22 ไมโครเมตร) ซึ่งทั้งขนาดและจำนวนจะแยกความแตกต่างของอบเชยจีนกับอบเชยเทศ และอบเชยชนิดอื่นๆ ได้

อบเชยที่มีคุณภาพดีต้องได้จากต้นที่มีอายุ 10-12 ปี อบเชยจีนชนิดดีจะต้องได้จากแขนงที่ยังอ่อนอยู่และขึ้นบนชะง่อนผา เมื่อลอกเปลือกออกมาจากเนื้อไม้แล้ว ทางด้านในของเปลือกมีเมือกเคลือบอยู่ ซึ่งจะต้องล้างเอาเมือกออกให้หมด เพราะถ้าทิ้งไว้จะทำลายกลิ่นของอบเชย

อบเชยญวน
อบเชยญวนเป็นไม้ยืนต้น ซึ่งมีลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับอบเชยจีนมาก  ใบเป็นใบเดี่ยวค่อนข้างบาง รูปร่างยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแต่หอมไม่เท่ากับอบเชยเทศ แต่มีรสหวาน  แต่ลักษณะผงแป้ง จะพบเม็ดแป้งมากและขนาดใหญ่กว่า 10 ไมโครเมตร ผลึกเป็นรูปเข็มจะเห็น Secretion cell ปริมาณมากกว่าและใหญ่กว่าอบเชยชนิดอื่นๆ

    อบเชยชวา
    อบเชยชวาเป็นไม้ยืนต้นที่ใหญ่กว่าอบเชยที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สูงได้ถึง 20 เมตร  เป็นอบเชยที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป แต่นิยมเรียกกันว่าอบเชยเทศ ใบยาวเรียว ปลายใบแหลม ดอกและผลมีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมแต่น้อยกว่าอบเชยเทศ  
โครงสร้างของเปลือกอบเชยชวา
  เมื่อพิจารณาลักษณะทางจุลทรรศน์ของอบเชยชวา เมื่อดูภาคตัดขวางมีลักษณะคล้ายคลึงกับอบเชยชนิดอื่น ๆ


เมื่อพิจารณาจากผงแป้งจะเห็นความแตกต่างกับอบเชยอื่นๆ อย่างเด่นชัดที่ผลึก Calcium oxalate จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือปริซึม แป้งพบได้น้อยมากและขนาดเล็กประมาณ 6-8 ไมโครเมตร


Cassia ที่นิยมนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย คือ Cassia bark หรือ อบเชยจีน ซึ่งองค์ประกอบทางเคมีของของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากอบเชยจีน มีดังต่อไปนี้
ตารางที่ 2  องค์ประกอบทางเคมีของของน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากอบเชยจีน

องค์ประกอบทางเคมี
คุณสมบัติ
ชนิด
ปริมาณ
cinnamic aldehyde
benzaldehyde
chavicol
linalool
cinnamyl acetate
87.00%
4.73%
0.33%
0.13%
0.08%
Stimulant
Antiseptic
Antibiotic
Astringent
Carminative
Digestive
Emmenagogue
Stomachic
Insecticide
Antispasmodic

นอกจากองค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในตารางแล้ว ยังมีองค์ประกอบทางเคมีอื่น คือ cinnamanic acid, phynylpropyl acetate, orthocumaric aldehyle, tannic acid และแป้ง การที่อบเชยจีนมีแป้งอยู่มากเป็นข้อบ่งชี้ถึงความแตกต่างกับอบเชยเทศ นอกจากนี้ในน้ำมันจะไม่พบ Eugenol เลย 
ความแรงของกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย cassial อยู่ที่ระดับ 3  แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของ Appell ความแรงของกลิ่นจะอยู่ที่ระดับ 7  

Appell ได้จัดระดับความแรงของกลิ่นไว้ดังนี้

          10 — Volcanic         9 — Incendiary   

.          8 — Fiery .          7 — Burning   

           6 — Hot            5 — Picquant

           3 — Medium          2 — Mild 

           1 — Delicate          0 — Neutral



เอกสารอ้างอิง

นันทวัน  บุญยะประภัศรและอรนุช  โชคชัยเจริญพร.   2542 .  สมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 5. ประชาชื่น จำกัด  กรุงเทพฯ

นิจสิริ เรืองรังษี.   2534.   เครื่องเทศ.   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,   กรุงเทพมหานคร.

สมคิด สิริพัฒนดิลก, พันธุ์ศักดิ์ ถ่องแท้มุ่งเจริญ และ วิชาญ เอียดทอง.   2539.   รายงานฉบับสมบูรณ์เรื่อง วิธีการขยายพันธุ์และการเก็บเกี่ยวเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไม้มีค่าบางชนิดในสกุลอบเชย.สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,   กรุงเทพมหานคร



****************



30ml fragrance-free SPF30 plus Sunscreen Spray with Parsol 1789 30ml fragrance-free SPF30 plus Sunscreen Spray with Parsol 1789
ทางบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการไม่รับเปลี่ยนหรือคืนสินค้าในหมวดเครื่องสำอาง Kinesys สเปรย์กันแดดสูตรน้ำที่ได้รับรางวัลและการการันตีเรื่องความปลอดภัยต่อผิวจากหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกา ใช้และเติมระหว่างวันได้สะดวก ด้วยหัวสเปรย์แบบละออง อีกทั้งยังปราศจากน้ำหอม แอลกอฮอล์ น้ำมัน สารกันเสียที่ทำให้ระคายเคืองผิว หรือเกิดปัญหาสิว ผิวแดง คุณจึงมั่นใจได้ว่าสามารถใช้ Kinesys ได้อย่างปลอดภัย แม้แต่ผิวของเด็ก หรือผิวแพ้ง่าย

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิตามิน อี....วิตามินแห่งการสืบพันธุ์

หลายคนคงไม่คิดว่าวิตามินที่มีหน้าที่ช่วยในการสืบพันธุ์โดยตรงคือ วิตามิน อี (Vitamin E) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า "โทโคเฟอรอล" ซึ่งเป็นวิตามินที่มักเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นวิตามินสำหรับความงามที่ช่วยชลอการแก่ก่อนวัยของผิวหนัง อันเป็นหน้าที่รองของวิตามินอี

โทโคเฟอรอล มาจาก ภาษา กรีก 2 คำ คือ "โทโคส (Tokos)" ที่แปลว่า ให้กำเนิดลูก  และ คำว่า "  เฟอรอล (Pherol) " ที่แปลว่า การทำให้มี หรือ การนำพา

ตามหลักการทางเคมี วิตามินอี เป็นสารประกอบที่อยู่ในกลุ่มสารที่มีชื่อว่า "โทโค (Tocos)" ซึ่งสารในกลุ่มนี้มี 2 ชนิดคือ โทโคเฟอรอล (Tocopherols)  และ โทโคไตรอีนอล (Tocotrienol)

การค้นพบวิตามินอี เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1911 โดยรู้จักวิตามินอี ในฐานะที่เป็นสารที่ทำหน้าที่เป็น antisterility factor ในสัตว์ และในอีก 9 ปีต่อมาได้มีนักวิจัยชื่อ Matthill และ Conklin ได้สังเกตพบว่าหนูที่กินอาหารผสมนมแตาขาดวิตามินจะมีความผิดปกติด้านการสืบพันธุุ์ แต่ไม่ทราบว่าการขาดวิตามินอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้หนูมีความผิดปกติด้านการสืบพันธุ์

ในปี ค.ศ. 1922 นักวิจัยชื่อ Evans และ Bishop ได้ทดลองเติมวิตามิน เอ และ วิตามิน บี ลงในอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนให้หนูกิน พบว่า แม้ว่าจะเสริมวิตามินเอ และวิตามินบีในอาหารแล้ว หนูตัวเมียก็ยังคงแท้งลูกและเป็นหมันในที่สุด  ดังนั้นจึงได้มีการเติมผักใบเขียว  ผักกาดหอม  อัลฟาฟา และเนยเหลวเสริมในอาหารหนู พบว่าหนูไม่เป็นหมัน นั่นแสดงว่า ผักใบเขียว เนยมีสารที่จำเป็นและมีความสำคัญต่อการสืบพันธุ์ของสัตว์ จึงตั้งชื่อว่า "แฟคเตอร์ เอกซ์ (Factor X)"  ต่อมาในปี ค.ศ. 1924 ได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก "แฟคเตอร์ เอกซ์" เป็น วิตามิน อี (Vitamin E) โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Sure  และในปี ค.ศ. 1934 ได้มีการสกัดวิตามินอีเป็นครั้งแรกจากรำข้าวสาลี และตั้งชื่อใหม่อีกชื่อหนึ่งตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีว่า "โทโคเฟอรอล" อีก 2 ปีต่อมาจึงได้มีการสังเคราะห์วิตามินอีขึ้นมา ในรูปของ "ดี-แอล-อัลฟาโทโคเฟอรอล (dl-alpha tocopherol)" โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Karrer และเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบล

การค้นพบว่า วิตามินอี มีฤทธิ์ต่อต้านปฏิกิริยาสร้างอนุมูลอิสระ (antioxidative activity) ในปี ค.ศ. 1945 จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1962 ได้มีการศึกษาผลของวิตามินอีในกระบวนการเมตาบอลิซึมของสิ่งมีชีวิตและพบว่าวิตามินอีเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระด้วย  จากการต้นพบนี้นำมาสู่การประยุกต์ใช้อธิบายการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อ เซลล์ และความชรา และนำมาสู่การประยุกต์ใช้วิตามินอีในผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และ โภชนาการอย่างกว้างขวาง

วิตามินอีชนิดอัลฟา และ บีต้า ต่างกันอย่างไร

ผู้อ่านคงเคยได้เห็นวิตามินอีที่เรียกว่า "อัลฟาโทโคเฟอรอล" และ ที่เรียกว่า "บีต้าโทโคเฟอรอล"  โทโคเฟอรอลมี 4 ชนิด ค่ะ คือ "อัลฟาโทโคเฟอรอล"  "บีต้าโทโคเฟอรอล"  "แกมมาโทโคเฟอรอล" และ "เดลต้าโทโคเฟอรอล" คำว่า อัลฟา, บีต้า, แกมมา, และ เดลต้า เป็นชื่อสัญญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงลักษณะโครงสร้างทางเคมีปลีกย่อยของวิตามินอี  และการที่วิตามินอีมีโครงสร้างปลีกย่อยที่แตกต่างกันมีผลทำให้การแสดงฤทธิ์แตกต่างกันด้วย

วิตามินอีชนิดที่แสดงฤทธิ์ทางชีวภาพมากที่สุดคือ วิตามินอีชนิด แอลฟาโทโคเฟอรอล รองลงมาคือ  แกมมาโทโคไตรอีนอล   โดยวิตามินอีชนิด แอลฟาโทโคเฟอรอลมีฤทธิ์ทางชีวภาพสูงสุด 100%  ส่วนวิตามินอีชนิดแกมมาโทโคเฟอรอลและ แอลฟาโทโคไตรอีนอลมีฤทธิ์ทางชีวภาพ 30%  ขณะที่วิตามินอีชนิดเดลต้าโทโคเฟอรอลมีฤทธิ์เพียง 1.4% เท่านั้น  การแสดงฤทธิ์ของวิตามินอีขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่เป็นสารต้านออกซิเดชั่นเป็นสำคัญ


วิตามินอีชนิดที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมากที่สุดคือ วิตามินอีชนิด เดลต้าโทโคเฟอรอล รองลงมาคือ  แกมมาโทโคเฟอรอล บีต้าโทโคเฟอรอล และ แอลฟาโทโคเฟอรอล ตามลำดับ

หน้าที่ของวิตามินอีในร่างกาย

แม้ว่าเราจะทราบหน้าที่ของวิตามินอี  แต่กลับไม่ทราบหน้าที่ของวิตามินอีในร่างกายไม่ชัดเจน พบว่าการแสดงฤทธิ์ของวิตามินอีในร่างกายขึ้นอยู่กับการเป็นตัวต้านออกซิเดชั่นเป็นสำคัญ ซึ่งจะช่วยป้องเซลล์เนื้อเยือของร่างกายจากอนุมูลอิสระ  ป้องกันการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง  และช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง  ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ทำให้เส้นเลือดแข็งแรง ทำให้เลือดหมุนเวียนดี จึงมีการนำวิตามินอีมาใช้รักษาอาการเส้นเลือดขอด  ความดันโลหิตสูง และ thrombophlebitis เป็นต้น

References:
ณกัญภัทร  จินดา. 2548. เอกสารประกอบการสอนวิชาเทคโนโลยีน้ำมันพืช. สาขาวิชาเทคโนโลยีทางกระบวนการเคมีและฟิสิกส์, คณะอุตสากรรมเกษตร, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ
ศิริวรรณ  สุทธจิตต์. 2550. วิตามิน. สำนักพิมพ์ the knowledge center, กรุงเทพฯ. 123-143 น.
Meydani, M. 1995. Vitamin E. Lancet. 345:170-175.





วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

ดีหมี ชื่อของต้นไม้ค่ะ และ งิ้ว หนามไม่แหลมอย่างที่คิด

เมื่อวันหยุดที่ผ่านมาได้ไปปิคนิค  ที่วนอุทยานแห่งชาติเขาท่าเพชร อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี กับครอบครัวอีกครั้ง   ทางวนอุทยานฯจัดที่โต๊ะไว้ให้รับประทานอาหาร ใต้ร่มไม้ใหญ่ อายุร่วม 100 ปีได้มั้ง (ดูจากขนาดต้น)  ใกล้ๆกับจุดชมวิว  สังเกตเห็นป้ายชื่อพรรณไม้ที่อุทยานติดไว้ที่ต้นว่า "ดีหมี"  นึกในใจว่าชื่อแปลกดี ต้องเก็บภาพไว้ซะหน่อย  ต้นไม้อะไรสู้ง....สูง ราว 20กว่า เมตร  อดตื่นเต้นเล็กๆไม่ได้ ตั้งใจว่าต้องมาค้นทำความรู้จักเจ้าต้นไม้ต้นนี้ซะหน่อยแล้ว

อาหารกลางวันใต้ร่มไม้
หลังจากรับประทานอาหารมื้อระหว่างเที่ยงระหว่างบ่ายเสร็จ  ก็เดินไปกราบพระธาตุศรีสุราษฎร์ ที่ประดิษฐานบนเขาท่าเพชร  ถ้ามีใครเคยไปเขาท่าเพชร จะเห็นต้นพยอมใหญ่ 2 ต้นร่มรื่น สองข้างหน้าพระธาตุ เป็นต้นพยอมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถสิริกิติต์ทรงปลูกไว้เมื่อราวๆ 50 ปีที่แล้ว เป็นมิ่งมงคลแด่ชาวสุราษฎร์ธานี  

พระธาตุศรีสุราษฏร์


ตอนเดินขึ้นพระธาตุ เหลือบไปเห็นต้น .งิ้ว"  ขนาดเส็นผ่านสูงกลางราว 40 ซม. แต่สูงมาก  นึกในใจว่า  "ภาคใต้มีต้น งิ้ว ด้วยหรือนี่  คิดว่ามีแต่ภาคเหนือซะอีก"

ในไตรภูมิพระร่วง หรือภาพจิตกรรมฝาผนังตามวัดที่เขียนเล่าเรื่องนรกภูมิ มักวาดต้น งิ้วที่มีหนามแหลม ยาว  มีเปรตปีนป่าย บนต้นงิ้ว   แต่  ต้น งิ้ว จริงๆ หนามไม่แหลมและไม่ยาว  ไม่น่ากลัว แต่น่ามอง ต้นไม้ที่มีเปลือกตะปุ่มตะป่ำต่างจากต้นไม้อื่นๆ....นี่เป็นต้นไม้อีกต้นที่ต้องทำความรู้จัก

เสร็จจากกราบพระธาตุ เราก็หิ้ว ถือ มะละกอสุก  แตงโม และกล้วย ไปให้บรรดาลิง ชะนี  กระต่าย  นกยูง เหยี่ยว ที่ป่าไม้นำมาพักไว้ที่เรา 2 คนสามีภรรยาอุปโลกว่าเป็นเพื่อน และลูก  หั่นแตงโม  มะละกอเป็นชิ้นใส่ไว้ในตะแกรงอาหารของเขาให้หยิบกิน   บริเวณนี้พ่อแม่ชอบพาลูกๆมาดูลิง ชะนี  กระต่ายกัน  ชะนีและลิงบางตัวเชื่องมาก และเป็นมิตร  บางตัวจะเกเรหน่อยแต่ไม่ดุร้ายอะไร  บางตัวน่ารักมากมายอย่างลูกชะนีหางยาว (ตั้งชื่อน้องตาหวาน) น่ารักมากๆ กินอาหารเรียบร้อยมาก ไม่มูมมามเหมือนแม่   สัตว์บางตัวถูกทำร้ายมา อย่างนกเหยี่ยวที่ถูกยิง

กระต่าย
ชนีหน้าขาว ตั้งชื่อว่า เป๊บซี่

 ลูกค่างหางยาว ตั้งชื่อว่า ตาหวาน

ตาหวาน  ลูกค่างหางยาว เรียบร้อยน่ารัก


นกยูง มี 2 ตัว
นกเหยี่ยวที่ถูกทำร้ายจนปีกหัก และตาบอด 1 ข้าง

หลังจากเยี่ยมบรรดาลิง ค่าง ชนี แล้ว ฝนเริ่มตกปรอยๆ ก็ถึงเวลาได้กลับบ้าน และเริ่มทำความรู้จักต้นไม้ 2 ชนิดคือ ดีหมี และ งิ้วได้ซะที

ต้นดีหมี

ใน longdo.dict ได้ให้ความหมายของดีหมีไว้ว่า  เป็น ชื่อไม้ต้นหลายชนิดหลายสกุลในหลายวงศ์ เช่น ชนิด Cleidion spiciflorum Merr. ในวงศ์ Euphorbiaceae ขึ้นในป่า มีรสขม ใบคล้ายมะไฟ ใช้ทํายาได้  แต่ชื่อและวงศ์ของต้นดีหมี ที่ติดไว้ที่ต้นดีหมี ที่ เขาท่าเพชร  บอกว่า เป็นต้นไม้ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Homalium sp. อยู่ในวงศ์ Flacourtiaceae

 

 จากการค้นข้อมูลจาก google พบว่าที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรินทร มีต้นดีหมีที่มีชื่อ Cleidion javanicum Blume และมีชื่อพ้องเป็น  Cleidion spiciflorum Merr. เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ( ต้นดีหมี อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรินทร )  เช่นเดียวกับระบบสืบค้นข้อมูลพรรณไม้ ขององค์การสวนพฤษศาสตร์ (ต้นดีหมี ระบบสืบค้นพรรณไม้ อง๕ืการสวนพฤษศาสตร์)  จึงมีคำถามว่าระหว่างดีหมี  Homalium sp. อยู่ในวงศ์ Flacourtiaceae กับ ดีหมี Cleidion javanicum Blume และมีชื่อพ้องเป็น  Cleidion spiciflorum Merr. เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันหรือไม่  จึงลองใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ Homalium sp.  ค้นดูพบว่า  ในวิกิพีเดีย มีพืชที่มีจีนัส Homalium sp. อยู่ถึง 28 ชนิด และพืชในจีนัสนี้เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลหรือวงศ์ Salicaceae  (Homalium sp. from wiki)  แต่เมื่อลองค้นหาโดยใช้ชื่อตระกูล Salicaceae พบว่า Flacourtiaceae  เป็นชื่อเดิมของ Salicaceae (http://en.wikipedia.org/wiki/Flacourtiaceae)  แสดงว่าทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ และชื่อวงค์ที่ปรากฏบนต้นดีหมีที่ เขาท่าเพชร มีอยู่จริง แต่ใช่ต้นดีหมีชนิดเดียวกับที่อื่นหรือไม่



ต้นดีหมี
 



จากลักษณะของพืชในวงค์ Salicaceae หรือ Flacourtiaceae บอกว่าเป็นพืชในประเภท flower plant  แต่ต้นดีหมีที่อยู่บนเขาท่าเพชร ไม่น่าใช่พืชให้ดอก  แต่กลับไปมีลักษณะใบ ลำต้น ความสูง คล้ายกับดีหมีที่มีชื่อ  Cleidion javanicum Blume หรือ Cleidion spiciflorum Merr. ที่เป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae คือมีลักษณะดังนี้

ลักษณะ     : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ก้านใบมีสีแสด มีผลคล้ายผลสมอ แต่
          พอสุกแล้ว จะมีสีดำ 
การเจริญเติบโต : มีเกิดตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไป 
สรรพคุณ    : เนื้อไม้มีรสขม รับประทานเป็นยาขับเหงื่อ แก้ไขระงับความร้อน แก้ปวดศีรษะ 
       พิษไข้ ขับเหงื่อ


งิ้ว


ลักษณะเด่นของต้นงิ้วคือ ลำต้นมีหนามตะปุ่มตะป่ำทั้วทั้งลำต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์: Bombax ceiba L.) ชื่อสามัญ หรือช่ือถิ่น ได้แก่ งิ้วหนาม งิ้วบ้าน งิ้วแดง งิ้วปง งิ้วปงแดง เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ลำต้นสูง 25-30 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากในช่วงเรือนยอด เป็นไม้เนื้ออ่อนมีหนามแหลมอยู่ตามลำต้น เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 30 เมตร ความกว้างของทรงพุ่ม 15 เมตร รูปร่างทรงพุ่มเป็นรูปไข่ ลำต้นอยู่เหนือดินตั้งตรงได้เอง ผิวของลำต้นหนามอยู่รอบลำต้น เห็นข้อปล้องไม่ชัดเจน ต้นอ่อนมีสีเขียวอ่อน ต้นแก่สีเขียวเข้ม

ใบของต้นงิ้วเป็นใบรวม ประกอบด้วยใบย่อย 3-7 ใบ ใบเป็นมันค่อนข้างหนา ใบย่อยรูปรีปลายใบเรียวแหลมเรียงกันคล้ายกับรูปนิ้วมือ มีสีเขียวไม่มีขน ก้านใบสีขาวมองเห็นชัดเจน เรียงสลับ ใบมีรูปรีถึงรูปไข่ ขนาดของใบ กว้างประมาณ 4 - 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 – 8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบเรียว ขอบใบเรียบ ดอก เดี่ยว ออกตามปลายกิ่งหรือปลายยอด 



ต้นงิ้ว
ต้นงิ้วมีลำต้นสูงกว่า 10 เมตร

ต้นงิ้วมีดอกสีแดงหรือสีแสด   กลีบรองดอกเป็นสีเขียวมีลักษณะเป็นรูปถ้วยมนแข็ง กลางดอกมีเกสรซ้อนเรียงกันอยู่ 3 ชั้นดอกขนาดใหญ่ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมีดอกอยู่ 3-5 ดอก ดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีขน ดอกบานจะเต็มที่ประมาณ 10 ซม มีลักษณะแข็งเลื่อมเป็นมัน  เกสรเพศผู้ เป็นเส้นยาวมีจำนวน มากเรียงกระจายเป็นวงรอบ สีขาวปนชมพู เกสรเพศเมีย จำนวน 1 อัน สีชมพู บริเวณปลายเป็นจุดสีเข้มมีความเหนียว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ  ดอกงิ้วสดใช้เป็นอาหารได้  ทำเป็นดอกงิ้วชุบแป้งทอดกรอบ หรือยำดอกงิ้วก็อร่อย เมื่อมีดอกต้นจะทิ้งใบทั้งหมดส่วนกลางออกเป็นเกสรตัวผู้เรียง 3 แถว ยาวยื่นออกมาเป็นเส้นๆ เมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาล  เกสรดอกงิ้วแห้งนิยมใช้ใส่ในอาหารชนิดต่างๆของชาวเหนือ เช่นแกงแค   ขนมจียน้ำเงี้ยว
ผลรูปรีปลายแหลมยาว 6-8 นิ้ว เมื่อผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลเปลือกผลแข็งเมื่อผลแก่จะมีปุยสีขาวปลิวออกมาตามลม เมล็ด เมล็ดสีดำ
สรรพคุณทางยา
เปลือกต้นช่วยบำรุงระบบไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการบวม จากการกระแทก รักษากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง บรรเทาอาการท้องเดิน แก้บิด อัมพาต เอ็นอักเสบ ดอกช่วยห้ามเลือด รักษาแผล ฝีหนอง บรรเทาอาการท้องเดิน บิดมูกเลือด ช่วยขับปัสสาวะ
รากหรือเปลือกรากใช้สมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการฟกช้ำบวมจากการกระแทก เป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยให้อาเจียน 
ผลอ่อนใช้บำบัดรักษาแผลเรื้อรังในไต 

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติของวิตามินเอ และแคโรทีนอยด์


 เรารู้จักและใช้วิตามินเอ มาเป็นเวลานานแล้ว และต่างทราบกันว่า สารตั้งต้นวิตามินเอ ที่เรียกว่า 'โปรวิตามินเอ (Pro-Vitamin A)  คือแคโรทีน... เรามารู้จักที่มา และการค้นพบของวิตามินเอ และแคโรทีนกันค่ะ


วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มะลิ น้ำมันดอกมะลิ


ทำไมดอกไม้วันแม่ต้องเป็นดอกมะลิ

นั่นซิ  หลายคนคงสงสัย  เขาบอกว่าเป็นเพราะดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว และมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจ  แถมยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงหัวใจ  ใช้เป็นส่วนผสมในยาลมอีกต่างหาก

ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอม และมีสรรพคุณทางยาก็มีหลายชนิด  แล้วทำไมต้องเป็นดอกมะลิ หรือเป็นเพราะ

ราคาถูก?   ก็ไม่นะ วันนี้ดูทีวี ข่าวบอกว่าที่ปากคลองตลาดขายลิตรละ 500 บาท แพงเอาการอยู่นา

 หาง่าย ตามต่างจังหวัด มีปลูกตามหน้าบ้านกันเยอะแยะ?  ก็น่าจะจริง  ที่บ้านก็ปลูก ตอนเช้าๆ ส่งกลิ่นหอมชื่นใจ เก็บดอกมะลิแรกแย้ม ใส่พานไปไหว้พระ มีความสุขทั้งวัน

 มะลิ เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ไหว้พระ พอๆกับดอกบัว ด้วยกลิ่นหอมชื่นใจ และมีสีขาว กลีบดอกซ้อนกันพองาม  ใช้ลอยน้ำเย็นดื่มยามร้อน ก็ชื่นใจยิ่งนัก

อะไรทำให้ดอกมะลิมีกลิ่นหอม? 

         ดอกมะลิลา หรือชื่อที่เรียกกันในพวกพฤษศาสตร์ว่า Jasminum sambac  จะมีน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วยสารที่ให้กลิ่นหอมและสรรพคุณทางยาหลายชนิดประมาณ 0.2-0.3% โดยน้ำหนัก  นักวิทยาศาสตร์พบว่าองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยมะลิมีมากกว่า 100 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ Benzyl acetate, Benzyl alcohol, Phenylacetic acid, Terpineol, Linalyl acetate, Methyl anthranilate, cis-jasmone, methyl jismonate, Farnesol, Linalool, และ Eugenol

         น้ำมันหอมระเหยดอกมะลิเป็นน้ำมันที่ให้กลิ่นหอมรัญจวนใจ อยู่ในกลุ่ม Middle-base note ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและยกระดับ  ช่วยให้เกิดความมั่นใจ  มองโลกในแง่ดี  จึงเหมาะสำหรับการคลายเครียด  บรรเทาอาการหดหู่อ่อนล้า ให้กลับสู่สภาวะสมดุล   เป็นน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางประทินผิว เนื่องจากนอกจากจะให้กลิ่นหอมแล้ว ยังเหมาะกับทุกสภาพผิว โดยเฉพาะผิวแห้ง

ในทางยา น้ำมันหอมระเหยมะลิ ช่วยแก้อาการปวด  แก้อาการรูิสึกหดหู่  แก้อักเสบ  ฆ่าเชื้อโรค  ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดประจำเดือน  ปัสสาวะปกติ ขับเสมหะ  บำรุงหัวใจ   ให้กลิ่นหอมสดชื่น ให้ความรู้สึกอ่อนหวาน ละมุนละไม จึงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นกำหนัด ใช้เป็นส่วนสร้างบรรยากาศในการรักษาโรคสมรรถภาพทางเพศ


ในตลาดน้ำมันหอมระเหยทั่วไป  น้ำมันหอมระเหยมะลิมี 2 เกรดใหญ่ คือ น้ำมันหอมระเหยมะลิที่เป็น absolute   มีลักษณะเป็นยางเหนียวสีน้ำตาล  มีกลิ่นหอมแรง  เป็นน้ำมันที่มีราคาสูงมาก  อีกเกรดคือน้ำมันหอมระเหยมะลิเจือจาง  เป็นการนำน้ำมันหอมระเหยมะลิเกรด absolute มาเจือจางกับตัวทำละลายให้มีความเข้มข้นประมาณ 5-10%  อย่างไรก็ตามน้ำมันหอมระเหยมะลิทั้ง 2 เกรดนี้ถือว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติเช่นเดียวกัน  ซึ่งในการนำไปใช้นั้นจะนำไปใช้โดยตรงไม่ได้ ต้องนำไปเจือจาง หรือผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  น้ำ  น้ำมันนวด  โลชั่น  ครีม อีกครั้ง


อาหารหน้าร้อน ที่รับประทาน แล้วเย็น หอมชื่่นใจ  หนีไม่พ้น ข้าวแช่  ที่ใช้ดอกมะลิอบเม็ดข้าว  และราดน้ำลอยดอกมะลิ หอมเย็นชื่นใจ

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่าทำไม ดอกไม้วันแม่ต้องเป็นดอกมะลิอยู่ดี   แต่ที่รู้ก็คือว่าทั้งพระคุณแม่ ที่ดูแลลูกๆ อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ  นอกจากจะต้องการให้ลูก ปลอดภัย แข็ง และมีแต่ความสุข และทั้งดอกมะลิที่มีคุณค่าให้คนที่ได้เห็นได้กลิ่นรู้สึกสดชื่น  มีความสุขใจ  และยังช่วยดูแลสุขภาพให้แข็ง เช่นกัน

*************************

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ถ้าเป็นวิตามินแห่งความงามต้อง ยกให้ Pantothenic acid

SALE-BRATION- UP TO 60% OFF + 10% off

วิตามินแห่งความงาม Pantothenic Acid


กรดแพนโทเทนิค  (Pantothenic acid) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ วิตามิน B5  นั้นเป็นวิตามินที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมากที่สุด  รองลงมาคือ อาหารเสริมที่ใช้สำหรับลดความน้ำหนัก  และ ยารักษาโรคขาดวิตามิน B

กรดแพนโทเทนิค ที่ใช้ผสมในเครื่องสำอาง จะอยู่ในฟอร์มที่เป็น D-Panthenol  นิยมใช้ในเครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวและเส้นผมมากกว่า เนื่องจาก  D-Panthenol  มีสมบัติ surfactant effect สูง ทำให้ซึมซาบเข้าสู่ผิวได้ดี  ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว จึงทำหน้าที่เป็น skin protective agent  ในผลิตภัณฑ์ประเภท after-sun  ซึ่งกรดแพนโทเทนิคจะเป็นตัวเสริมวิตามินในผิวที่ถูกแสงแดดทำลาย

ในผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม กรดแพนโทเทนิคทำหน้าที่เป็นสารให้ความชุ่มชื้นและช่วยปรับสภาพเส้นผม ป้องกันและซ่อมแซมเกล็ดเส้นผมจากการถูกทำลายด้วย สารเคมี ความร้อน และ แสงแดด จากการย้อมผม  การเป่าผม  การแปรงผม

ในทางการแพทย์ กรดแพนโทเทนิค ยังช่วยสมานแผลหลังการผ่าตัดได้ดี โดยไปกระตุ้นให้เซลล์เนื้อเยื่อเจริญเติบโตเต็มที่จนสามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้  ทำให้อาการอักเสบและบวมแดงลดลง


ปัจจัยใดที่ร่างกายต้องการกรดแพนโทเทนิค


ปริมาณกรดแพนโทเทนิคที่  RDI แนะนำ  คือ  วันละประมาณ  200  ไมโครกรัม  แต่โดยปกติแล้วร่างกายไม่ค่อยขาดวิตามินนี้  ยกเว้นคนที่ขาดอาหารและวิตามิน B อย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้ร่างกายมีระดับของวิตามินนี้ลดลงถึง 25-30%      นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานยาเม็ขึ้ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน ก็อาจมีผลทำให้ร่างกายต้องการวิตามินนี้มากขึ้น

อาหารที่มีกรดแพนโทเทนิค

วิตามิน B5 นี้พบได้ทั่วไปในพืช สัตว์ และจุลินทรีย์    พืชสีเขียวส่วนมากและจุลินทรีย์โดยเฉพาะยีสต์มีวิตามินนี้มากที่สุด   พืช ยีสต์และจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กสามารถสังเคราะห์วิตามินนี้ได้จากกรดคีตอยส์โววาเลอริค (ketoisovaleric acid)  และกรดแอสปาร์ติค (aspartic acid)

สำหรับในพืช สามารถพบวิตามินนี้ได้มากในเมล็ด (เช่นเมล็ดถั่ว 100 กรัม จะมีวิตามินนี้ประมาณ 2-5 มิลลิกรัม   ละอองเกสรดอกไม้ 100 กรัม  จะมีวิตามินนี้ประมาณ 3 มิลลิกรัม  ธัญพืช 100 กรัม  จะมีวิตามินนี้ประมาณ 1-2 มิลลิกรัม  ถ้าเป็นเมล็ดกำลังงอกจะมีปริมาณมากขึ้น) รองลงมาคือในผักและผลไม้ 

ผักใบเขียว  100  กรัม มีวิตามินนี้ประมาณ 0.1-0.5 มิลลิกรัม ขณะที่ผลไม้ 100 กรัม  มีวิตามินนี้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัม  ผักที่มีวิตามินนี้มากเช่น บรอคโคลี่  ถั่ว  เห็ด  มันเทศ  อโวกาโด  อย่างไรก็ตามพบว่าการแปรรูปมีผลทำให้สูญเสียวิตามินนี้ไป ดังนั้นจึงควรบริโภคผักและผลไม้ที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด  สำหรับแหล่งวิตามินในเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไข่แดง  ตับ และไต

กรดแพนโทเทนิค หรือวิตามิน B5 ในอาหารจะพบอยู่ในรูปของ โคเอนไซม์ เอ (coenzyme A)  เมื่อเรารับประทานอาหารเข้าสู่ระบบการย่อยในลำไส้เล็ก  โคเอนไซม์ เอ จะถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์ในลำไส้เล็กกลายเป็น กรดแพนโทเทนิค ซึ่งจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด  และถูกนำไปใช้ในเนื้อเยื่อต่างๆ   ในกระแสเลือดจะมีวิตามินนี้เพียง 1 มิลลิกรัมต่อเลือด 1 ลิตรเท่านั้น  เมื่อวิตามินถูกดูดซึมเข้าสู่ภายในเซลล์เนื้อเยื่อ  กรดแพนโทเทนิค จะรวมตัวกลายเป็น โคเอนไซม์ เอ  อีกครั้ง

ส่วนวิตามินที่ไม่ถูกดูดซับเข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อจะถูกเก็บสะสมไว้ในตับ  ต่อมหมวกไต  ไต  สมอง  อัณฑะ  และ ส่วนที่ไม่ถูกเก็บสะสมร่างกายจะขับออกมาทางปัสสาวะ 70% และอุจจาระ  30%

กรดแพนโทเทนิค จะออกฤทธิ์เสริมกันกับ วิตามิน B1  วิตามิน B2  วิตามิน B12  วิตามิน C  กรดโฟลิค  Biotin  และ Niacin   และเสริมฤทธิ์ในการลดไขมัน เมื่อใช้ร่วมกับกรดไนโคตินิค  (nicotinic acid) หรือ สารยับยั้งเอนไซม์ HMG-coA reductase inhibitors   แต่การใช้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์


รูปแบบที่ถูกนำมาใช้เป็นยาและอาหารเสริม


ด้วยคุณสมบัติการออกฤทธิ์ทางด้านสุขภาพและความงาม  กรดแพนโทเทนิคจึงถูกนำมาใช้เป็นอาหารเสริมและยารักษาโรค  โดยมีการใช้ในฟอร์มต่างๆดังนี้

- เกลือแคลเซียม  หรือ calcium pantothenate USP/Racemic  clcium pantothenate USP
   รูปแบบนี้มีความคงตัวสูงกว่ารูปแบบอิสระ  และสามารถละลายน้ำได้ดี   เมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงแตกตัวเป็นกรดแพนโทเทนิคอิสระ
- รูปที่เป็น Panthenol USP
   รูปแบบนี้มีความคงตัวต่ำในสภาวะที่เป็นกรด (พีเอช 3-6)  แต่สามารถถูกดูดซึมในระบบทางเดินอาหารได้ดี
-รูปที่เป็น Dexpanthenol USP
  รูปแบบนี้ใช้เป็นยารักษาโรคลำไส้เล็กไม่ทำงาน (paralytic ileus)  และภาวะอาการหลังผ่าตัดลำไส้เล็ก    และมักใช้ร่วมกับ โคลีน (choline) เพื่อลดอาการท้องอืด



 --------------------------------------------
Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes) หมายถึง ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยคิดจากความต้องการพลังงานวันละ 2,000 กิโลแคลอรี 

อ้างอิง
1. Combs, Gerald. The Vitamins: Fundamental Aspects in Nutrition and Health. Burlington: Elsevier Academic Press, 2008.
2. Tahiliani A.G. and Beinlich, C.J. Pantothenic acid in health and diesease. Vitamins and Hormones, 46: 165-228.