ค่ำวันนี้ มีเวลาหยิบนิตยสารเก่าเกือบ 18 ปีมาอ่าน หลายคนคงจะเก็บนิตยสารเล่มที่ชื่นชอบไว้ไม่ยอมขายเป็นเศษกระดาษเหมือนดิฉัน นิตยสารหญิงไทย สันวารสาร ระบุฉบับที่ 471 ปีที่ 20 ปักษ์หลัง พฤษภาคม 2538 ราคา 30 บาท จำนวนหน้า 258 หน้า หน้าปกเป็นภาพคุณซอนย่า คูลลิ่งถ่ายแฟชั่นผ้าไทย แบบชาวเขาสวย น่ารักมาก เทียบกับตอนนี้เธอแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย
เวลาดิฉันอ่านนิตยสารเก่าๆ แล้วอดที่จะนำมาเปรียบเทียบกับนิตยสารที่วางจำหน่ายในปัจจุบันไม่ได้ ดิฉันไม่ได้ซื้อนิตยสารมานานเกือบประมาณ 3 ปี เห็นจะได้ (ยกเว้นนิตยสารทางวิชาการ เทคโนโลยี หรือสารคดี อย่าง NG ที่ยังซื้อบ้าง แต่ NG ซื้อฉบับภาษาอังกฤษค่ะ) เป็นเพราะเนื้อหาสาระในนิตยสารปัจจุบันเมื่อเทียบกับราคาแล้ว สู้นิตยสารเก่าๆไม่ได้เลย ดิฉันรู้สึกว่ามันไม่คุ้มราคา ที่แพงเพราะกระดาษและเต็มไปด้วยโฆษณา
ในหญิงไทยฉบับนี้ ดิฉันชอบเกร็ดความรู้หรือเคล็ดลับต่างๆที่คนทางบ้านเขียนมาเล่าบ้าง บางคนก็เขียนมาขอ ทำให้เราพลอยรู้ไปด้วย เนื้อหาสาระทางกฎหมาย สุขภาพ สังคม ประสบการณ์ลี้ลับ การบ้านการเรือนบทความสารคดีทั้งในและต่างประเทศ ความสวยความงาม การทำอาหาร มีบทสัมภาษณ์ เรื่องแปล นวนิยายและเรื่องสั้นไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง มีเรื่องเกี่ยวกับเด็ก วัยรุ่น เพลงและดนตรี และการฝีมือทั้งการแกะสลัก โครเชต์ ครอสติช การตัดเย็บเสื้อผ้า ออ! มีเกมส์ word มาให้เล่นสนุกๆ และดวงชะตามาให้อ่านกัน อีกด้วย
เรียกว่า เต็มอิ่มค่ะ ครบทุกรสชาติค่ะ
ในคอลัมน์ มาลัยวลินของคุณจันทิมา วัชราภรณ์ เป็นคอลัมน์ที่ให้คนทางบ้านที่ชอบเขียนบทกวีได้ส่งผลงานเข้า ไม่ใช่เพื่อชิงรางวัล แต่ส่งมาเพราะความชื่นชอบกัน บทกลอนที่ตีพิมพ์ในฉบับนี้สะท้อนถึงสภาพสังคม ณ เวลานั้นได้ดี ซึ่งไม่ต่างกับปัจจุบันเท่าไรนัก ทั้งๆที่วัน เวลาผ่านไปนานถึงเกือบ 18 ปี ในบทกลอนที่ชื่อว่า ..แล้ง.น้ำใจ ที่เขียนโดย "วนิดา" (หน้า 230) .เธอเขียนไว้ดังนี้ค่ะ
แล้ง...น้ำใจ
ดินแยกแตกระแหงด้วยแรงร้อน
ผักหญ้าต้นข้าวอ่อนตายหมดสิ้น
คนจนจะเอาอะไรไปทำกิน
หมดสิ้นความหวังยังฝืนรอ
เดินฝ่าเปลวแดดที่แผดเผา
อนาคตของเราเฉาหมดหนอ
ลูกเมียหิวระโหยและโรยรอ
เราก่อให้เขาเกิดต้องดูแล
เข้ากรุงหางานทำค่ำกินเช้า
สังคมเขาที่เห็นเป็นย่ำแย่
ตัวของใครตัวของมันฉันไม่แล
ปัญหาแย่มีสารพัดให้รัฐบาล
ผู้ตนหลากมากมายเรื่องเนืองแน่น
นับเป็นแสนแน่นถนนคนโดยสาร
แย่งกันกินแย่งกันอยู่แย่งการงาน
แล้งน้ำใจจะประสานสามัคคี
แล้งแผ่นดินสิ้นข้าวในนาไร่
ยังพออยู่กันได้ไม่ขายหนี
แล้งน้ำใจไร้ปลาในวารี
ก็ยังดีกว่าแล้งใจในเมืองกรุง
"วนิดา"
บทกลอนอีกบทสะท้อนที่ถึงคุณค่าและปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากน้ำ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร เขียนโดยคุณสัญญา ถิ่นวัฒนากูล ชื่อ "น้ำ" (หน้า 230 เช่นกันค่ะ)
น้ำ
วัฎจักรแหล่งน้ำธรรมชาติ
ประกอบธาตุสถานะแห่งสสาร
ให้ประโยชน์ให้โทษทั้งพลังงาน
ฤดูกาลเหตุเห็นความเป็นมา
มวลมนุษย์พืชสัตว์อยู่จัดสรร
ชีพผูกพันดำรงอยู่ทรงค่า
ขาดน้ำเลี้ยงร่างกายวายชีวา
ทุกข์ปรากฏการณ์สังขารตน
แผ่นดินแห้งน้ำหายช่วงปลายเหตุ
ถึงอาเพศโทษฟ้าพายุฝน
ธรรมชาติร้ายหรือน้ำมือตน
เมื่อพื้นบนพสุธาไร้ป่าคลุม
ทะเลหนุนขุ่นคลองนองน้ำเหนือ
อำนาจเหลือล้นหลากท่วมปากหลุม
แรงน้ำเงินดันผลักเข้าหลักมุม
ล้มไม้รุมเปิดป่าประชาทัณฑ์
ทะเลทรายใครจะอนุรักษ์
หาน้ำหนักจิตใจใครคงมั่น
ประชากรรับกรรมผู้ทำทัน
น้ำผูกพันเป็นเสบียงเลี้ยงชีวิต
ไทยร่วมชาติพร้อมรับรักนับถือ
ความดีคือเอกลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์
เมื่อชุมชนสามัคคีดีทุกทิศ
เหล่ามิตรฤาจะอยู่สู้...น้ำใจ
สัญญา ถิ่นวัฒนากูล
แพทเทริน์ถักโครเชต์ผ้าปูโต๊ะ และเสื้อถัก รวมทั้งแฟชั่นเสื้อผ้าจากต่างประเทศ ในฉบับนี้ ทำให้ดิฉันทิ้งนิตยสารนี้ไม่ลงค่ะ เสื้อผ้าในนิตยสารฉบับนี้ช่างเป็นยุคเดียวกับที่กำลังนิยมในปัจจุบันที่กำลังนิยมชุดแซค หรือที่ชอบเรียกกันว่า "เดรส" คุณแม่ดิฉันเคยบอกว่า ให้เก็บเสื้อผ้าไว้ เพราะเดี๋ยวแฟชั่นมันจะหวนกลับมาใหม่ ตอนนั้นดิฉันไม่ค่อยเชื่อ ...แต่ตอนนี้ดิฉันเชื่อคุณแม่แล้วค่ะ
ขอจบตบท้ายด้วยหน้าปกหลังของนิตยสารฉบับนี้ด้วยภาพโฆษณาน้ำปลายี่ห้อหนึ่ง ที่ทำออกมาได้สวยงามและน่ารับประทานมาก
ดิฉันชอบนวนิยายเรื่องยาว เรื่อง ในเงาพรหม ของ จินตกัญญา และ เรืองรอยหนามงิ้ว ของ อิสรี กำลังสนุกค่ะ ขอกลับไปอ่านต่อนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น