วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

ตะขบหลังบ้านต้นไม้ที่มากประโยชน์ เป็นต้นไม้ของฝรั่งหรือนี่ !!



ต้นตะขบหลังบ้าน เจริญเติบโตขึ้นมาอย่างที่เจ้าของบ้านไม่ตั้งใจ  โตมาได้เพราะนกมาถ่ายเมล็ดทิ้งไว้หรือไม่ก็ลูกตะขบของเพื่อนบ้านร่วงลงมา   ตะขบเป็นต้นไม้ยืนต้นที่เจริญเติบโตง่ายมาก  ตัดแล้วตัดอีก เดี๋ยวเดียวก็แตก  ที่บ้านทีตะขบหลายต้น แต่ยอมแพ้ ยอมให้เติบโตเป็นต้นตะขบใหญ่เพียงต้นเดียวมีอายุประมาณ 3 ปี  ด้วยความที่ตะขบโตง่ายมาก  บ้านสวนแทบจะทุกบ้านในซอยมีต้นตะขบไว้เป็นร่มเงา  (อย่างน้อยก็ทำให้ใต้ต้นไม่มีหญ้าขึ้นรก)  เลยคิดไปเองว่าตะขบผลเล็กๆแดงๆ  รสหวานหอม  ชื่นใจ เป็นต้นไม้ประจำถิ่นของไทย

ความจริงแล้ว ต้นตะขบที่อยู่หลังบ้าน  ที่มีผลเล็กๆ สีแดง  (red berries)  มีชื่อเรียกว่า   ตะขบฝรั่ง หรือ Calabur หรือ Manila cherry  มีชื่อวิทยาศาสตร์เป็น  Muntingia calabura  L. เป็นพืชในวงศ์  TILICEAE  เป็นพืชพันธุ์พื้นเดิมที่มาจากทวีปอเมริการใต้  ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศคล้ายคลึงกับบ้านเรา  ตะขบฝรั่งจึงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยตั้งแต่เชียงใหม่จนถึงนราธิวาสเลยทีเดียว  ( แต่ไม่ทราบว่าเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร)


หน้าร้อนตะขบฝรั่งหลังบ้านออกผลดกเป็นพิเศษ ทั้งคน ทั้งนก กินกันไม่ทัน  ผลร่วงเกลื่อนใต้ต้น  ก็ปล่อยให้เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตในดินไป  แต่ละวันวลาเดินผ่านต้นตะขบต้นนี้ ฉันก็จะเอื้อมไปเก็บตะขบลูกแดงจัดๆ มา 4-5 ลูก  ล้างน้ำ แล้วก็กินสดๆ ไม่น่าเชื่อว่า ผลตะขบหวาน หอมชื่นใจจริงๆ โดยไม่ต้องแช่ในตู้เย็น  แถมยังปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง เพราะตะขบเป็นต้นไม้ที่ไม่มีศัตรูใดๆ (ยกเว้นคนที่พยายามจะตัด)  เพราะฉะนั้นวันนึงฉันเลยเดินผ่านต้นตะขบหลายรอบ

ที่บ้านหันมาใช้เตาถ่าน  เดิมเราก็ไปซื้อถ่านไม้เบญพรรณมาใช้  แต่ตอนนี้เราหันมาใช้กิ่งไม้จากต้นไม้ในบ้าน  ที่บ้านต้นไม้ที่มีมากที่สุดคือกระถิน และตะขบ  เราเลยใช้กิ่งไม้ตะขบและกระถิมาเป็นฟืน  กิ่งตะขบจะติดไฟได้ง่ายกว่ากระถิน จึงเป็นเชื้อไฟได้ดีกว่า พอติดไฟเราจึงใช้ไม้กระถิน

นอกจากความร่มรื่นแล้ว ประโยชน์ทางจิตใจที่บ้านเราได้จากต้นตะขบฝรั่งก็คือ บ้านเราไม่เคยว่างเว้นจากนกหลากหลายชนิด ที่มาเกาะกินลูกตะขบบ้าง มาเกาะพักร้อน พักเหนื่อยบ้าง มาจีบกันบ้างตลอดวัน ส่งเสียงร้องเจี้อยแจ้ว แต่ละวันมากันหลายรอบ ได้ฟังเสียงนกร้องเจื้อยแจ้วตั้งแต่เช้ายันค่ำ  ฟังแล้วเพลินดี สบายใจ  


นอกจากความสุขเล็กๆที่บ้านเราได้จากต้นตะขบ(ฝรั่ง)หลังบ้านแล้ว ในทางด้านวิชาการ ต้นตะขบฝรั่งมีประโยชน์อะไรบ้าง



นิดดาและทวีทอง (2550) ได้เขียนไว้ในหนังสือ ว่า   ผลตะขบฝรั่งเมื่อสุกรับประทานได้ รสหวานเย็นหอม บำรุงกำลัง ทำให้ชุมชื่นใจ ส่วนต่างๆ ของต้นสามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ดังนี้ 
เปลือก   ใช้ต้มกินเป็นยาระบาน  แก้โรคผิวหนัง 
ราก    แก้เสมหะ  โรคผิวหนัง  แก้ผื่นคันตามตัว
ต้น    เนื้อไม้ใช้ขับไส้เดือน แก้ตานขโมย แก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด แก้ไข้หวัด แก้ปวดศรีษะ
ใบ    มีรสฝาดเอียน ขับเหงื่อ
ดอก   นำดอกแห้งมาชงเป็นยาแก้ปวดศรีษะ ลดไข้ แก้หวัด แก้ปวดเกร็งในทางเดินอาหาร 
     ต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่นช่วย ขับระดู แก้โรคตับอักเสบ
ผล    ใช้รับประทานเล่น รสหวาน หอม

จากการศึกษาสารสกัดจากผลตะขบฝรั่งของ Preethi และคณะ (2012) พบว่าผลตะขบมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการอักเสบ (anti-inflammatory activity) และต้านอนุมูลอิสระ (anti-oxidant activity)  ขณะที่ดอกมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ (antiseptic activity) แก้ปวดศรีษะ แก้หวัด  ใช้ในการรักษาอาการกล้ามเนื้อท้องปวดเกร็ง ( abdominal cramps and spasms

ขณะที่ Zakaria และคณะ (2014) พบว่าในสารสกัดใบของตะขบฝรั่งที่สกัดด้วยเมทานอลมีสารที่มีฤทธิ์ในการดูแลระบบทางเดินอาหาร (gastroprotective activity) และเมื่อนำสารสกัดใบตะขบฝรั่งมาทดสอบในหนูพบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ เมืื่อหนูได้กินสารสกัดใบตะขบปริมาณ 500 mg/kg นอกจากนี้สารสกัดใบตะขบฝรั่งยังมีฤทธิ์ลดสารคัดหลั่ง ( anti-secretory activity) จึงใช้ลดน้ำมูก แก้หวัด   มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ( antioxidant activity)  มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activitัy)   ทั้งนี้เนื่องจาก ใบใบตะขบประกอบด้วยสารพฤษเคมี tannins, saponins และ flavonoids (เช่น rutin, quercitrin, fisetin และ dihydroquercetin)

อ้างอิง

นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. ตะขบฝรั่ง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 73

Kathirvel Preethi, Paramasivam Premasudha, Kittusamy Keerthana. 2012. Anti-inflammatory Activity of Muntingia calabura FruitsPharmacognosy Journal. 4(30):51-56.


Zainul Amiruddin Zakaria, Tavamani Balan, Velan Suppaiah, Syahida Ahmad, Fadzureena Jamaludin. 2014. 

Mechanism(s) of action involved in the gastroprotective activity of Muntingia calabura. Journal of Ethnopharmacology151(3): 1184–1193.